การดำเนินการตามพันธกรณีของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในประเทศไทย

     สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์

สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty : CTBT) มีจุดมุ่งหมายหลักคือห้ามมิให้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์อื่น ๆ ไม่ว่าในสิ่งแวดล้อมใด (ในอวกาศส่วนนอก อากาศ ใต้น้ำ และใต้ดิน) เพื่อป้องกันมิให้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก

CTBT ได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ และเปิดให้ลงนามที่นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ โดยประเทศไทยได้ลงนามใน CTBT เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑

     สถานะของ CTBT

ปัจจุบัน มีประเทศลงนามในสนธิสัญญาฯ จำนวน ๑๘๔ ประเทศ ในจำนวนนี้ ได้ให้สัตยาบัน ๑๖๘ ประเทศ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากข้อ ๑๔ ได้กำหนดว่า สนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อ ๔๔ ประเทศที่อยู่ในภาคผนวก ๒ ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าร่วมการประชุมการลดอาวุธในปี ค.ศ.๑๙๗๖ และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยในครอบครองขณะนั้น ได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฯ แล้วทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ มีเพียง 36 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน ประเทศในภาคผนวก ๒ ที่ยังไม่ให้สัตยาบัน ได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิสราเอล ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา 

     การดำเนินงานของไทยตามพันธกรณีของสนธิสัญญา

ภายใต้หนังสือแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยทำกับสำนักเลขาธิการทางวิชาการ (Provisional Technical Secretary for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO/PTS)

๑. การจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศในประเทศไทย

ประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องให้ความร่วมมือ ในการจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ จำนวน ๓ สถานี ได้แก่

๑.๑ สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (Radionuclide Monitoring Station, RN65)

๑.๒ สถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ (Primary Seismic Monitoring Station, PS41)

๑.๓ ระบบวัดก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสี ทีเอชเอ็กซ์ ๖๕ (Radionuclide Noble Gas System; THX65)

๒. ศูนย์ข้อมูลเฝ้าตรวจการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ (National Data Center: N171)

Search