มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. ดําเนินการเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสํานักงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ดําเนินการเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายให้คําปรึกษาและแนะนําเกี่ยวกับการดําเนินงานด้านกฎหมาย ข้อกําหนด สนธิสัญญา อนุสัญญา และพันธกรณีหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสี
  3. ดําเนินการเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการออกกฎหมาย รวมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายบรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของสํานักงาน
  4. ดําเนินการเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญา การอุทธรณ์ การรับเรื่องราวร้องทุกข์งานเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางแพ่งและอาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นของสํานักงาน
  5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

โครงสร้าง

legal group

ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. ปฏิบัติงานสารบรรณ และธุรการ
  2. ดำเนินการด้านแผนงาน และติดตามผล
  3. ดำเนินการเกี่ยวกับงานการคลังและพัสดุ การเงิน และงบประมาณ
  4. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

งานพัฒนากฎหมายนิวเคลียร์ มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. เป็นศูนย์ประสานในการพิจารณาร่างและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนิวเคลียร์ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของสำนักงาน
  2. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงาน
  3. พัฒนากฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กฎกระทรวง คำสั่ง ระเบียบ ประกาศ

งานคดีทั่วไปและนิติกรรมสัญญา มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. ดำเนินงานเกี่ยวกับคดีอาญา และคดีแพ่ง
  2. ตรวจพิจารณากลั่นกรองสัญญาในหน้าที่ของสำนักงาน
  3. รับเรื่องร้องเรียนและประสานการเจรจาไกล่เกลี่ย
  4. ดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติหรือคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
  5. ดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับคดีปกครอง

งานสนธิสัญญานิวเคลียร์ มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. พิจารณาตีความสนธิสัญญา พิธีสารหรือพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสี
  2. ยกร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำกับต่างประเทศ
  3. วิเคราะห์ และเสนอความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสนธิสัญญา พิธีสารหรือพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสี
  4. ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับการพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำและเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา รวมทั้งบอกเลิกหรือถอนการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา

งานที่ปรึกษากฎหมาย มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. ดำเนินการจัดทำร่างสัญญา บันทึกความเข้าใจ , บันทึกข้อตกลง และนิติกรรมสัญญาต่างๆ ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
  2. ให้คำปรึกษา วินิจฉัย และตีความข้อกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
  3. จัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศทางกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์และรังสี
  4. จัดทำคู่มือหรือแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์และรังสีเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ
  5. จัดให้มีการศึกษา ฝึกอบรมหรือถ่ายทอดความรู้ด้านกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์และรังสีภายในสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและหน่วยงานภายนอก

สถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับใบอนุญาตระหว่างปี พ.ศ.2558 - ปัจจุบัน

 

บทความที่น่าสนใจ

ความเห็นทางกฎหมายของความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่น่าสนใจ  กองกฎหมายปกครอง (กฤษฎีกาสาร ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑ (ตุลาคม - พฤศจิกายน ๒๕๖๒) หน้า ๗ - ๘)

     เนื่องด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีผลใช้บังคับ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรการบังคับทางปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวระหว่างที่กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับนี้ได้มีกรณีเกี่ยวกับการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินที่น่าสนใจ ดังนี้

     สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๒ ท่าน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้อุทธรณ์คำสั่งมิได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และเรียกให้กระทรวงศึกษาธิการชดใช้ค่าเสียหายด้วย  ต่อมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษายกฟ้องและเจ้าหน้าที่ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด  โดยศาลปกครองสูงสุดมิได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านไม่เสร็จสิ้น กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือเตือนให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านชำระค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่เจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านไม่ปฏิบัติตาม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงดำเนินสืบหาทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านเพื่อที่จะดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามคำสั่งต่อไป แต่โดยที่มาตรา ๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่จะออกคำสั่งให้ชำระเงินต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินภายในสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุด และตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดว่า คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองภายในระยะเวลาอุทธรณ์
(๒) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ และไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาการฟ้องคดี และ (๓) ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษายกฟ้องหรือเพิกถอนคำสั่งบางส่วนและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่สำหรับกรณีนี้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นว่าไม่เป็นไปตามกรณีที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๖๓/๘ วรรคสอง (๒) และ (๓) ทำให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการไม่อาจดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงได้หารือคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในประเด็นดังต่อไปนี้

๑. กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังมิได้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ท่านที่มิได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้สืบพบทรัพย์สินก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศใช้บังคับ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาจะดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้หรือไม่ อย่างไร และการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินภายในสิบปีจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด

๒. กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังมิได้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ท่านที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด โดยไม่ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ท่านนั้นได้หรือไม่ อย่างไร และระยะเวลาที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาจะต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินภายในสิบปี จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด

     คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่เรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด แต่เนื่องจากการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับทางปกครองและเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตนได้ เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครอง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ วรรคสาม และมาตรา ๖๓/๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการหรือศาลปกครองได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงมีอำนาจดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านได้

     ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น โดยที่มาตรา ๖๓/๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อยู่ภายในบังคับของคำสั่งทางปกครองภายในสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อคำสั่งที่ออกให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านจึงยังไม่เป็นที่สุดตามมาตรา ๖๓/๘ วรรคสอง (๒) และ (๓) ระยะเวลาในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินภายในสิบปี จึงยังไม่เริ่มนับ แต่จะเริ่มนับเมื่อคำสั่งเป็นที่สุดด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว

     อย่างไรก็ดี คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นการกำหนดระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ รวมแล้วไม่เกินหกสิบวันหรือเก้าสิบวันสำหรับกรณีที่มีการขยายระยะเวลานับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ หน่วยงานผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองจึงควรคำนึงถึงระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย

บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงินที่ยังไม่เป็นที่สุด (เรื่องเสร็จที่ ๑๑๒๕/๒๕๖๒)

Search