สนธิสัญญา CTBT มีวัตถุประสงค์เพื่อ
๑. ห้ามการทดลองระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ใด หรือการทดลองระเบิดนิวเคลียร์อื่นใด ไม่ว่าจะ ณ ที่ใดบนโลก
๒. จัดตั้งระบบเฝ้าตรวจทั่วโลกเพื่อบังคับใช้ และพิสูจน์ยืนยันความยึดมั่นในการเข้าร่วมเป็นภาคีของสนธิสัญญาและเพื่อตรวจจับการละเมิดสนธิสัญญา
๓. เชิญชวนรัฐทั้งปวงเข้าร่วมเป็นภาคี และส่งเสริมการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ และเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของนานาประเทศ
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty; CTBT) เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ โดยมีพันธกรณีที่ต้องดำเนินการภายใต้สนธิสัญญา ดังนี้
๑. สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น ๖๕ (Radionuclide Monitoring Station; RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม
งานวิจัยจากการใช้ข้อมูลของสถานี RN65
การยกระดับสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น ๖๕
เมื่อวันที่ ๒๔-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ Mr.Halit Tatlisu ผู้เชี่ยวชาญจาก CTBTO พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากบริษัท ENVEA ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาการดำเนินงานสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น ๖๕ (RN65) ได้เดินทางเข้ามา Upgrade สถานี RN65 ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกลุ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย โดยได้เปลี่ยนอุปกรณ์ระบบวัด ระบบควบคุม และระบบประมวลผลใหม่ทั้งหมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถานี RN65
๒. สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส ๔๑ (Primary Seismic Station; PS41) ณ สถานีวัดความสั่นสะเทือน จังหวัดเชียงใหม่ รายละเอียดเพิ่มเติม
สถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ (Primary Seismic Monitoring Station)
ปรับปรุงจากสถานีวัดความสั่นสะเทือนจังหวัดเชียงใหม่ ในความรับผิดชอบของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ตั้งอยู่ใน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ร่วมกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ผลักดันให้สถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานีหนึ่งในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (The Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) โดย ได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการเตรียมการองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBTO PrepCom) เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
๓. ระบบวัดก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสี ทีเอชเอ็กซ์ ๖๕ (Radionuclide Noble Gas System; THX65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม รายละเอียดเพิ่มเติม
๔. ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ เอ็น ๑๗๑ (National Data Center; N171) ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ
ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติเอ็น ๑๗๑ (National Data Center, N171)
จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (The Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ (International Monitoring System, IMS) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้สนธิสัญญานี้
ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติเอ็น ๑๗๑ มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ ดังนี้
๑. เพื่อเฝ้าตรวจการบังคับใช้ของสนธิสัญญาในการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เช่น การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
๒. เพื่อเฝ้าตรวจการแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสีที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
๓. เพื่อการเตือนภัยจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ โดยความร่วมมือกับกรมอุทกศาสตร์ และกรมอุตุนิยมวิทยา
๔. เป็นข้อมูลสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความปลอดภัยจากนิวเคลียร์และรังสี เช่น การคำนวณการได้รับรังสีจากนิวไคลด์รังสีที่ได้รับจากการหายใจ
CTBTO National Data Center (NDC) Capacity Building Workshop and Regional Seismic Travel Time (RSTT) in combination with Data Sharing and Integration Training
เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ถึง ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO PrepCom) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง National Data Center (NDC) Capacity Building Workshop and Regional Seismic Travel Time (RSTT) in combination with Data Sharing and Integration Training ณ โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ และฝึกอบรมการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อหาตำแหน่งของการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมจากประเทศสมาชิกของสนธิสัญญาในทวีปเอเซีย จำนวน ๑๙ คน จาก ๑๗ ประเทศ โดยประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่จากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าร่วม