ประเด็นคำถามและคำชี้แจงที่สำคัญเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559

ประเด็นคำถามและคำชี้แจงที่สำคัญเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙

banner 2

คำถาม พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ให้อะไรกับประชาชนบ้าง

ตอบ พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งให้หลักประกันด้านความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปัจจุบันนี้ พลังงานนิวเคลียร์และรังสีมีการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย เช่น การใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ การผลิตและใช้เภสัชรังสีในการรักษามะเร็ง การใช้รังสีวินิจฉัย การปลอดเชื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การถนอมอาหารโดยการฉายรังสีอาหาร การปรับปรุงพันธุ์พืช การวิเคราะห์ดิน และการควบคุมแมลงโดยการฉายรังสีให้กลายพันธุ์ และด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้เป็นกฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างมาตรการความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในมิติใด แต่หากรัฐบาลอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต รัฐบาลเองต้องทำให้ประชาชนยอมรับในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อน

คำถาม ทำไมถึงต้องมีพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ จะใช้ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ได้หรือ

ตอบ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานมาก บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องและทันต่อเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์และรังสีที่เปลี่ยนแปลงไป สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจึงมีความจำเป็นที่ต้องเสนอให้มีการแก้ไข เช่น

๑. การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ควบคุมได้เฉพาะส่วนการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เท่านั้น ไม่ควบคุมครอบไปถึงเรื่องการเลือกสถานที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์และการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

๒. การกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ กำกับดูแลได้เฉพาะเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ ไม่ครอบคลุมเครื่องกำเนิดรังสีอื่น ๆ เช่น เครื่อง Cyclotron รวมถึงไม่มีบทบัญญัติในการควบคุมการนำเข้าส่งออกเครื่องกำเนิดรังสี

๓. พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีอำนาจเพียงเข้าตรวจสอบสถานประกอบการและรายงานผลการตรวจสอบนั้นต่อคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับเหตุยับยั้งการปฏิบัติงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนั้น พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มิได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินทางรังสี

๔. พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ กำหนดให้การพิจารณาการออกใบอนุญาตทุกชนิด ทุกประเภท เป็นอำนาจของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งไม่เหมาะสมในการปฏิบัติในสภาพปัจจุบัน

๕. พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่มีบทบัญญัติที่จะรองรับการเข้าเป็นภาคีหรือการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่จำเป็นในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี

๖. พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว

๗. บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

คำถาม ในการยกร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. …. ได้มีการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากประเทศต่างๆ หรือไม่

ตอบ การยกร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ ได้ผนวกผลการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เข้าไปด้วย นอกจากนี้ การยกร่างได้ยึดตามหลักการร่างตามคู่มือกฎหมายนิวเคลียร์ (Handbook on Nuclear Law) ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) เพื่อให้เป็นร่างกฎหมายที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ การยกร่างยังได้นำหลักของสนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นแนวทางในการยกร่างด้วย เช่น

(๑) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพต่อวัสดุนิวเคลียร์ (Convention on the Physical Protection of Nuclear Material) โดยหลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ใน มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๔๐

ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ การอนุวัติการอนุสัญญานี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่ประเทศไทยจะปฏิบัติตามข้อมติที่ ๑๕๔๐ ขององค์การสหประชาชาติซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ได้

(๒) สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty – CTBT) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ใน มาตรา ๑๔๑

ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมือง ว่าประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ และเห็นว่าการทดลองดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกและความมีเสถียรภาพในภูมิภาค รวมทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประชาคมโลก

(๓) อนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Convention on Nuclear Safety) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ หมวด ๕ เรื่อง สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ มาตรา ๔๕ ถึง มาตรา ๗๔

ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมประชุม และทราบความก้าวหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศเวียดนามซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงต่อประเทศไทย ประเทศไทยจะสามารถให้ความเห็นในเวทีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ ความเห็นดังกล่าวรวมถึงความเห็นในกรณีที่จะต้องให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และความเห็นในกรณีที่เห็นควรให้ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้

(๔) อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และความปลอดภัย ในการจัดการกากกัมมันตรังสี (Joint Convention on the Safety of Spent Fuel Management and on the Safety of Radioactive Waste Management) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ หมวด ๖ และ หมวด ๗ เรื่องเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว มาตรา ๗๕ ถึงมาตรา ๘๓ และ มาตรา ๘๔ ถึงมาตรา ๘๗

ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและความปลอดภัยในการจัดการกากกัมมันตรังสี คือ ความโปร่งใสในการจัดการกากกัมมันตรังสีของประเทศไทยและประเทศภาคีสมาชิกอื่น ๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบมาตรการและนโยบายในการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีอนุสัญญา และประเทศไทยสามารถให้ความเห็นการประชุมระหว่างประเทศดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบ ความโปร่งใสและความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของประเทศเวียดนามซึ่งกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และประเทศไทยอาจมีความเห็นในที่ประชุมระหว่างประเทศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้

(๕) พิธีสารเพิ่มเติมภายใต้สนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Additional Protocol under Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ หมวด ๘ เรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และพิทักษ์ความปลอดภัย (มาตรา ๘๘ ถึงมาตรา ๙๗) และหมวด ๑๓ เรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๑๑๓)

ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแท้จริง จึงนำไปสู่การป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเน้นการให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างการไม่แพร่ขยายอาวุธและการลดอาวุธ รวมทั้งสิทธิของรัฐภาคีในการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ พิธีสารเพิ่มเติมสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยในการขับเคลื่อนการไม่แพร่ขยาย และลดอาวุธนิวเคลียร์ได้

banner 3

คำถาม กากกัมมันตรังสีจะไปไหน ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้

ตอบ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่มีบทบัญญัติถึงการจัดการกากกัมมันตรังสีไว้โดยเฉพาะ แต่ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ได้มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกากกัมมันตรังสีไว้โดยเฉพาะในหมวด ๖ กากกัมมันตรังสี ทั้งนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีจะต้องจัดการกากกัมมันตรังสีตามที่กำหนดไว้

ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการกากกัมมันตรังสี

คำถาม หากพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ประกาศใช้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีความพร้อมด้านบุคลากรหรือไม่

ตอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ส่งบุคลากรของสำนักงานเองเข้าอบรมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและต่างประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย ๒๐๐ ทุนต่อปี ทั้งการฝึกอบรมจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) สหภาพยุโรป (EU) และหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศอื่น ๆ เป็นต้น การพัฒนาบุคลากรเป็นนโยบายหลักเพื่อให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติพัฒนาให้มีระบบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมเทคโนโลยีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศได้อย่างยั่งยืน

คำถาม พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ฉบับนี้ มีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ตอบ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้มีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ส่วนของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ขอรับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งจัดทำรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับเบื้องต้น ฉบับสมบูรณ์ และเอกสารหรือหลักฐานทางการเงิน (มาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๕) รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัย (มาตรา ๕๖)

เมื่อจะดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ผู้ประกอบการต้องยื่นขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ด้วย (มาตรา ๖๔)

สำหรับมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางรังสี จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์นี้ไว้ในกฎหมายลำดับรองให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตต้องดำเนินการเพื่อระงับหรือป้องกันอันตรายจากรังสีที่อาจเกิดกับบุคคล ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม

คำถาม การกำหนดอัตราโทษในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการกำหนด

ตอบ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดอัตราโทษต่าง ๆ ของการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ว่า หากการกระทำความผิดต่าง ๆ ตามร่างกฎหมายฉบับนี้สร้างความเสียหายอย่างร้างแรงต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรกำหนดบทระวางโทษโดยใช้หลักความได้สัดส่วน (principle of proportionality) ในการลงโทษผู้กระทำความผิด ที่ต้องพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดนั้น ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษผู้กระทำความผิด

คำถาม องค์ประกอบของคณะกรรมการและ อำนาจในการกำกับดูแลของคณะกรรมการในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติแตกต่างจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติหรือไม่

ตอบ เดิม การออกใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้าและส่งออก ตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติทั้งหมด

ส่วนพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ จะมีการแบ่งอำนาจในการออกใบอนุญาต ๒ กรณี คือ

๑. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีอำนาจออกใบอนุญาตบรรดาวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์

๒. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีอำนาจออกใบอนุญาตสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติก่อนจึงจะออกใบอนุญาตสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ได้

พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ กำหนดให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ด้วย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัย (Security) ด้วย ซึ่งเป็นมิติหนึ่งในความมั่นคงของประเทศ แต่ทั้งนี้การกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางทหารจะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้น

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังได้มีกำหนดเพิ่มปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการในคณะกรรมการฯ ด้วย เนื่องจากพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ได้มีการบรรจุเรื่องการระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี อยู่ในหมวด ๑๐ และการระงับเหตุฉุกเฉินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ภารกิจของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙

พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙
การควบคุมการใช้พลังงานปรมาณู ดังนี้

๑. การออกใบอนุญาตการผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุพลอยได้หรือพลังงานปรมาณูจากเครื่องกำเนิดรังสี (มาตรา ๑๒ (๑) ประกอบ ข้อ ๕ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐)

๒. การออกใบอนุญาตการผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุต้นกำลัง (มาตรา ๑๒ (๑) ประกอบ ข้อ ๙ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐)

๓. การออกใบอนุญาตการผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้พลังงานปรมาณูจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู (มาตรา ๑๒ (๑) ประกอบ ข้อ ๑๔ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐)

๔. การออกใบอนุญาตนำหรือส่งออกวัสดุพลอยได้ (มาตรา ๑๓ ประกอบ ข้อ ๖ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐) )

๕. การออกใบอนุญาตนำหรือส่งออกวัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุต้นกำลัง (มาตรา ๑๓ ประกอบ ข้อ ๑๑ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐)

การควบคุมการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสี ดังนี้

๑. การออกใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้, ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่าน วัสดุกัมมันตรังสี

๒. การออกใบอนุญาตทำ มีไว้ในครอบครองหรือใช้, ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก เครื่องกำเนิดรังสี

๓. การออกใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้, ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่านวัสดุนิวเคลียร์

๔. การควบคุมสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ดังนี้

๔.๑ การออกใบอนุญาตสถานที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

๔.๒ การออกใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

๔.๓ การทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

๔.๔ การดำเนินการและการเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ เป็นต้น

๕. การควบคุมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว

๖. การควบคุมการจัดการกากกัมมันตรังสี

Skip to content