เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าสร้างเกราะป้องกันประเทศจากภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และรังสี ด้วยการจัด โครงการฝึกอบรมด้านการตรวจจับทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าให้สามารถตรวจจับและป้องกันการลักลอบนำเข้า-ส่งออกวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและประชาคมโลก ตั้งแต่วันที่ 3-4 มีนาคม 2568 โดยมีนางสาวอัมพิกา อภิชัยบุคคล รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ และให้เกียรติกล่าวต้อนรับฯ ผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความปลอดภัยบริเวณพรมแดน กว่า 30 คน ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จังหวัดสงขลา
นางสาวอัมพิกา อภิชัยบุคคล กล่าวว่า “เพราะเราต้องก้าวให้ทันภัยคุกคามที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน จึงเกิดโครงการฝึกอบรมนี้ขึ้น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของไทยในการเสริมสร้างมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และส่งเสริมการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนจากวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์” อีกทั้ง ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติด้านความมั่นคงปลอดภัย ทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในระดับโลก โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรฐานสากลเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อความเสี่ยงจากวัสดุกัมมันตรังสี เช่น “แหล่งกำพร้า” (orphan sources) ซึ่งเป็นแหล่งรังสีที่หลุดออกจากการควบคุมและอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรง โครงการฝึกอบรมนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้งานเครื่องมือตรวจจับรังสีขั้นสูง เช่น เครื่องสํารวจระดับรังสี เครื่องตรวจจับรังสีแบบพอร์ทัล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานความมั่นคง ศุลกากร และหน่วยงานกำกับความปลอดภัยทางรังสี
นอกจากการอบรมเชิงทฤษฎีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกภาคสนาม สำหรับกระบวนการตรวจจับวัสดุนิวเคลียร์และกัมมันตรังสีจริง ณ ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปส. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการควบคุมความปลอดภัยและความมั่นคงด้านนิวเคลียร์ โดยโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความเชี่ยวชาญทางวิชาการให้กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และการประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการจัดการภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ความพยายามนี้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของไทยในการปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของรังสี รวมถึงการลดความเสี่ยงจากภัยก่อการร้ายนิวเคลียร์ในระดับโลก
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120