การกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของ ปส. ระหว่างสถานการณ์ COVID – 19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก มีการปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงมีมาตรการและแนวปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นระยะ ทำให้ธุรกิจและประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New normal) เพื่อเป็นทางเลือกสู่ทางรอดมากขึ้น หน่วยงานในภาครัฐก็ตระหนักถึงการต้องปรับเปลี่ยน และปรับตัวในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงรุกและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ ในอนาคตมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในทางสันติในประเทศไทย เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานและการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ COVID – 19 เพื่อสนับสนุนให้ ปส. รวมทั้งบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนยังคงสามารถปฏิบัติงานและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีให้เกิดแก่ประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน สถานประกอบการ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดย ปส. มีการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของ ปส. ระหว่างสถานการณ์ COVID – 19 ดังนี้
ภารกิจด้านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี
ปส. มีภารกิจในการให้บริการตรวจสอบความปลอดภัยของการนำพลังงานนิวเคลียร์และรังสีมาใช้งานของสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ปส. จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้หน่วยงานฯ สามารถตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีตัวเอง (Self-assessment) ตามลักษณะการใช้งานของวัสดุกัมมันตรังสี เพื่อให้หน่วยงานสามารถตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีได้ด้วยตนเอง ดังนี้
- แนวปฏิบัติการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยด้วยตนเองสำหรับหน่วยงานที่ครอบครองและใช้ Nuclear Moisture Density Gauge
- แนวปฏิบัติงาน เรื่องการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยด้วยตัวเองสำหรับงานรังสีรักษาที่ใช้งานวัสดุกัมมันตรังสี
- แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานเพื่อการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยทางรังสีด้วยตนเองสำหรับสถานประกอบการที่ครอบครองและใช้เครื่องวัดเชิงนิวเคลียร์ทางอุตสาหกรรมชนิดติดตั้งอยู่กับที่
- แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานเพื่อการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยด้วยตัวเองสำหรับการตรวจสอบความปลอดภัยในการควบคุมการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีกลุ่มความเสี่ยงที่ 1
ภารกิจด้านการขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ
ภารกิจด้านการให้บริการขอรับใบอนุญาตทางนิวเคลียร์และรังสีต่าง ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญซึ่ง ปส. มีการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ สถานการประกอบการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กรณียื่นคำขอรับใบอนุญาตวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ และเครื่องกำเนิดรังสี สามารถยื่นคำขอผ่านทางไปรษณีย์ หรือส่งเอกสาร ณ ป้อม รปภ. ปส.
- กรณียื่นคำขอรับใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสีและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ปส. ได้จัดเตรียมช่องทางการยื่นคำขอออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ปส. www.oap.go.th ไว้เพิ่มเติมอีกหนึ่งช่องทางเพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น
- กรณีการอบรมและการทดสอบเพื่อประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ทางรังสี สามารถสมัครเข้ารับการอบรมและการทดสอบฯ
- ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่ http://rso-training.oap.go.th โดย ปส. มีการจัดเตรียมช่องทางออนไลน์สำหรับการอบรมดังกล่าวเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน
ภารกิจด้านการประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ปส. ในฐานะหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศด้านนิวเคลียร์และรังสีของไทย ยังคงดำเนินงานอย่างเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์ COVID – 19 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ระดับนานาชาติตามที่ได้มอบหมาย รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือทางนิวเคลียร์และรังสีด้านต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะไม่สามารถเดินทางหรือจัดกิจกรรมระหว่างประเทศได้ แต่ ปส. ได้มีการนำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการประสานงานและจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการจัดประชุม ฝึกอบรม สัมมนา ร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศและภายในประเทศ อาทิ ทบวงการพลังงานประมาณระหว่างประเทศ (IAEA) RCA Regional Office (RCARO) National Skills Academy for Nuclear (NSAN) World Institute for Nuclear Security (WINS) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถึง 99 กิจกรรม มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 25 หน่วยงาน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน
มาตรการและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง COVID-19 ของ ปส.
ด้วยตระหนักถึงการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายในระดับต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับอย่างสูงสุด ปส. จึงกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง ดังนี้
และมีการกำหนดมาตรการโดยทั่วไปในการป้องกันการแพร่ระบาด ดังนี้
- ห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุขแจ้งเตือน
- งดหรือเลื่อนการเชิญบุคคลจากต่างประเทศมาร่วมการประชม สัมมนา หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- มีระบบคัดกรองบุคลลเข้าออกภายในอาคารและระบบสนับสนุนการทำงาน มีการทำความสะอาด ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ในบริเวณพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย
- เน้นการฝึกอบรม สัมมนา และการประชุมในระบบ e - Meeting
- มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการ ณ ที่พัก (Work from home) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- เหลื่อมเวลาปฏิบัติงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน
นอกจากนี้ ปส. ยังจัดกิจกรรมแบ่งปันและช่วยเหลือประชาชนผ่าน “ตู้ปันสุข”ณ บริเวณหน้า ปส. ถนนวิภาวดี-รังสิต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันความช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) อีกด้วย