ไทยขานรับการสนับสนุน 4 โครงการใหญ่ระดับประเทศจากไอเออีเอ พร้อมบูรณาการหน่วยงานรัฐให้ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์

        สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขานรับการสนับสนุน 4 โครงการใหญ่ จาก IAEA พร้อมบูรณาการหน่วยงานรัฐให้ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานในการประชุม 5 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ปส.- IAEA ความร่วมมือและการวางแผนโครงการความร่วมมือ เชิงวิชาการที่ได้รับการสนับสนุน 4 โครงการใหญ่ในรอบปี พ.ศ. 2567 – 2568 พร้อมหารือเตรียมการของ รอบปี พ.ศ. 2569 – 2570 เน้นประยุกต์พัฒนาใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม

รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เปิดเผยว่า ในรอบปี พ.ศ. 2567 – 2568 ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการ (Technical Cooperation ; TC) จำนวน 4 โครงการ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 นาย Denis Subotinitskiy ผู้จัดการโครงการความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 1 (Programme Management Officer (PMO), Division for Asia and the Pacific Section 1, Department of Technical Cooperation, IAEA) มาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม Collaboration and Planning for TC Programme ณ ปส. เพื่อหารือความคืบหน้าของโครงการที่เริ่มดำเนินกิจกรรม ได้แก่

1. THA5058: Applying Nuclear Technology to Assure Food Quality and Safety (ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อรับรองคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)

2. THA1017: Strengthening National Capacities for the Safe Operation of the New Miniature Neutron Source Reactor (ด้านการเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยในการปฏิบัติการของเครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็ก (Miniature Neutron Source Reactor, MNSR) และการผลิตนิวตรอนสำหรับการรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธีรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (Boron Neutron Capture Therapy: BNCT) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี)

3. THA7006: Developing National Technical Capability for Impact Assessment of Plastic Pollution on Marine and Coastal Ecosystems and Human Health through the Application of Nuclear and Isotopic Techniques (ด้านการพัฒนาความสามารถทางวิชาการระดับชาติในการประเมินผลกระทบของมลพิษจากพลาสติกต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และสุขภาพของมนุษย์ โดยการประยุกต์ใช้เทคนิคนิวเคลียร์และไอโซโทป)

4. THA9019: Enhancing National Capacities in Managing Radioactive Waste and Naturally Occurring Radioactive Material (ด้านการเสริมสร้างศักยภาพระดับชาติในการจัดการกากกัมมันตรังสีและสารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดย ปส. และ สทน.)

    การประชุมดังกล่าว จะมีการให้คำแนะนำและทบทวนการจัดทำข้อเสนอโครงการความร่วมมือทางวิชาการระดับประเทศในรอบปี พ.ศ. 2569 – 2570 โดยมีหน่วยงานของไทยเข้าร่วมรับฟังคำแนะนำกว่า 70 คน อาทิ กรมวิชาการเกษตร ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สทน. เป็นต้น และคาดว่ามีโครงการเข้าร่วมกว่า 20 โครงการ เพื่อให้ IAEA พิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องตามกรอบความร่วมมือทางวิชาการระดับประเทศของไทย (Country Programme Framework: CPF) ในแต่ละสาขาต่อไป

    รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ กล่าวในที่สุดว่า ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกของ IAEA ในการจัดทำโครงการความร่วมมือด้านวิชาการที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ซึ่งประเทศไทยเน้น 6 สาขาหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ได้แก่ การแพทย์และสาธารณสุข เกษตรและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม อาหารและโภชนาการ การจัดการกากกัมมันตรังสี และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120

Skip to content